พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงี
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงา
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอน
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงี
 
 
ชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน
 
 
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชุมชน

ข้อมูลชุมชน

๑. ชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน


๒. ความหมาย ทุ่งมะส้านมีที่มาจากบริเวณนี้มีต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งจำนวนมากชาวไทยใหญ่

เรียก“โท้งหมากส้าน”ชอบขึ้นตามริมห้วย เมื่อผลสุกเต็มที่จะมีสีส้ม กลิ่นหอม และเป็นอาหารของสัตว์น้ำ

จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านทุ่งมะส้าน


๓. จัดตั้งชุมชน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘


๔. สถานที่ตั้งชุมชน

บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ ๕ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พิกัด ละติจูต ๑๙ องศา ๒๗ ลิปดา ๒๙๖ ฟิลิปดาเหนือ

พิกัด ลองจิจูต ๐๙๘ องศา ๐๐ ลิปดา ๐๓๒ ฟิลิปดาตะวันออก


๕. ประธานกรรมการชุมชน

นายพล  จันทร์วิไลลักษณ์

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๔๘ บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘–ปัจจุบัน


๖. ประวัติชุมชน

บ้านทุ่งมะส้านเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาตั้งมาประมาณ ๑๓๕ ปี

(พ.ศ. ๒๔๑๘)โดยมีพ่อเฒ่าคำกับพ่อเฒ่าตี้หลง เป็นกลุ่มแรกที่อพยพหนีภัยโจร ผู้ร้ายจากพม่าเข้ามา

ตั้งบ้านอยู่กับครอบครัวบริเวณนี้ ด้วยเห็นว่าที่ตั้งมีความปลอดภัยมีที่ทำกิน อีกทั้งเป็นเส้นทางผ่าน

สามารถทำการค้าระหว่างแม่ฮ่องสอนกับพม่าได้ ขณะเดินทางมาพ่อเฒ่าคำได้นำมะพร้าวมาด้วย

เมื่อมาถึงตั้งบ้านเรือนเรียบร้อยแล้วจึงได้ปลูกมะพร้าวต้นนี้ไว้ในบริเวณบ้านตนเอง เจริญเติบโตม

าพร้อมกับการขยายหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกมะพร้าวต้นนี้ว่า “หมากป้าวเลา” ด้วยคุณสมบัติที่มีอายุมาก

ลำต้นสูง ตั้งตรงมองเห็นแต่ไกล ปัจจุบันน่าเสียดายที่ได้หักโค่นลงเมื่อปีที่แล้ว (๒๕๔๘)
เมื่ออยู่มาระยะหนึ่งเริ่มมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นทยอยย้ายสมทบเข้ามาเรื่อยๆ อย่างเช่น บ้านหลุกตอง บ้านนาปูป้อม ล้านห้วยผา และอีกหลายๆหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ด้วยมีชัยถูมิที่ดีคือ มีที่ราบ

สำหรับทำนา แม่น้ำแม่สะงีไหลผ่านตลอดปี เนินเขาสำหรับทำข้าวไร ถั่ว พริก งา ได้ผลผลลิตดี หมู่บ้าน

มีภูเขาล้อมรอบ โจรผู้ร้ายไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในระยะไกล จึงได้กลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นขยายที่

ทำกิน เปิดการค้าขายสินค้าและวัวควายกับประเทศพม่า เมื่อประมาณยี่สิบปีมานี้ได้มีการส่งเสริมปลูก

กระเทียมสร้างรายได้หลักให้กับชุมชน และมีคนในชุมชนส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน ส่งเงินมา

ให้ครอบครัว
หมู่บ้านเคยประสบเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกปี ๒๕๑๖ ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้

รับผลกระทบทั่วกัน แม่น้ำแม่สะงีได้เอ่อท่วมที่นาและบางส่วนของหมู่บ้าน ที่นาที่เคยปลูกข้าวเหลือ

แต่ก้อนหินกับพื้นทราย ต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟูให้กลับเป็นที่ทำกินเหมือนเดิมได้ และอีกครั้ง

หนึ่ง เมื่อปี ๒๕๔๖ ได้เกิดฝนตกติดต่อกันหลายชั่วโมงในตอนกลางคืน ลำห้วยทั้ง ๓ สายที่หลายผ่าน

หมู่บ้านได้พัดพาเอาเศษไม้และก้อนหินจำนวนมากเข้าท้วมหมู่บ้านหลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สิน

โชคดีที่ชีวิตทุกคนปลอดภัย

คำว่าทุ่งมะส้านเกิดจากบริเวณนี้มีต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งชอบขึ้นตามริมห้วย เมื่อผลสุกเต็มที่มีสีส้ม กลิ่นหอม เป็นอาหารของสัตว์น้ำมีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ กรัม จริงๆแล้วไทยใหญ่เรียก “โท้งหมากส้าน” ได้รับการเปลี่ยนใหม่ เมื่อมีการตั้งหมู่บ้านตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ด้วยเหตุที่ว่าเป็นสากลง่ายต่อการอ่านเขียนของเจ้านายสมัยนั้น
เดิมที่ไม่มีการปกครองที่เป็นทางการต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ขณะนั้นมีจำนวน ๗ หลังคา ประชากร ๓๑ คน  ได้มีการแต่งตั้งนายจ่าก่าตั๋นขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้าน แต่ยังคงเป็นบ้านบริวารของ บ้านห้วยผาอยู่ เมื่อสิ้นนายจ่าก่าตั๋นแล้ว นายหลง นายออง นายกุ่งหม่า ได้เป็นผู้นำสืบต่อมาจนถึง ปีพ.ศ. ๒๕๐๓ ทางอำเภอประกาศยกฐานะขึ้นเป็นหมู่บ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยผา อำเภอ เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และได้ให้นายตี๊ แสงวารี ซึ่งดำรงตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการมาก่อน ๖ ปีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านมีส่วนสำคัญในการสร้างโรงเรียน สร้างวัด จนเกษียณอายุราชการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จากนั้นชาวบ้านได้คัดเลือก นายวีระ ปฐมปัญญาดี ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มี ส่วนสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านอย่างเช่นการของบประมาณสร้างถนนลาดยาง การก่อสร้างระบบประปา การเดินระบบไฟฟ้าเข้าในหมู่บ้าน การฝึกหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง การทำนุบำรุงพระพุทธ ศาสนา จนได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ หลังจากนั้น ต้องใช้กฎหมายใหม่ที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ดำรงตำแหน่งตามวาระ ๔ ปี ชาวบ้านได้เลือก นายคำเจ่ง แสง วารี ขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นผู้ที่ขอติดตั้งโทรศัพท์สาธารณสำหรับใช้ในหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้
ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันคือ นายพล จันทร์วิไลลักษณ์ ได้รับการคัดเลือกเมื่อ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นผู้ที่มีฝีมือในงานช่างทุกรูปแบบ สามารถพิสูจน์ฝีมือจากวัดเจดีย์วัดทุ่งมะส้าน ที่ได้ เป็นผู้นำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มีความคิดการเป็นนักพัฒนาและผู้นำในสายเลือด โดยเริ่มจากเป็นผู้นำ เยาวชน จากนั้นก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของหมู่บ้านมาโดยตลอด สุดท้ายได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบต. ก่อนที่จะลาออกมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผลงานสำคัญย้อนไปเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วขณะเป็นวัยรุ่นได้ร่วมกับกำนัน บรรยงค์ ลอก๊ะ และอดีตนายกอบต.ห้วยผา ซึ่งอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาถ้ำปลา (อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ บริเวณบ้านห้วยผาในปัจจุบัน) จากที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ด้วยคำร่ำลือเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วประเทศ และทั่วโลก รู้จัก นำเงินตราเข้าประเทศและช่วยเศรษฐกิจคนในท้องถิ่นจนนับจำนวนไม่ได้
ปัจจุบันสามารถเดินทางเข้าสู่จังหวัดได้สะดวกด้วยถนนลาดยางระยะทางประมาณ ๒๕
กิโลเมตร  ใช้เวลาในการดินทางประมาณ ๓๐ นาที ด้วยศักยภาพของชุมชนที่ทีความสามัคคี ให้ความ ร่วมมือกับทางราชการเป็นอย่างดี มีการรวมกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผู้คนอยู่ใน ศีลธรรมอันดี ผู้สูงวัยถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีอย่างต่อเนื่อง เด็กๆเยาวชนสนใจและปฏิบัติตาม ผู้นำมีความเข้มแข็งและเข้าใจหลักการพัฒนา หมู่บ้านเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ใต้หุบผา แห่งนี้ยังคงอบอวลด้วยกลิ่นไอของผู้คนในอดีต ถึงแม้ว่าได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งก็ตาม

แกนนำชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน

๑. นายพล จันทร์วิไลลักษณ์     ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน

๒. นางละอองดาว คนกล้า       ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

๓. นายธงชัย บุญดีเสมอ         ตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา

๔. นางกัญญา ภวภาคภูมิ        ตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยผา

๕. นายศุภชัย    ภวภาคภูมิ

๖. นางจันทร์ทอง    สิทธิพร

๗. นางประไพ     ติ๊บหล้า

๘. นางอำไพ    พ่วงรัก

๙. นายส่วยกี่    แสงวารี

๑๐. นายส่วยทุน    เกษมสิทธิ์ศิริ

๑๑. นายประพันธ์    บัวลา

๑๒. นางคำเจ่ง    แสงวารี

๑๓. นายนิยม    จรรยาโอฬาร

๑๔. นายนิคุณ    จรรยาธาร

๑๕. นายสำรอง    กรนทีกาญจน์


๗. ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน หมู่ที่ ๕ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัด

แม่ฮ่องสอน อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อาณาเขตบ้านทุ่งมะส้าน ตั้งอยู่บริเวณที่ราบ

ระหว่างหุบเขา ตามลำน้ำแม่สะงี มีภูเขาสูงขนาบทั้งสองด้านตามแนวทิศเหนือถึงทิศไต้ พื้นที่มีป่าไม้

อุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้แดง ไม้ยาง ชุมชนบ้านทุ่งมะส้านมี

พื้นที่ทำกิน ซึ่งที่ดินที่ใช้ทำการเกษตรนั้น มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและเป็นที่ราบเชิงเขา มีแม่น้ำ

แม่สะงีเป็นแม่น้ำสายหลักที่ใช้ในการเกษตร พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำนั้น จะปลูกข้าวในฤดูฝนและปลูกกระเทียมในฤดูหนาว ส่วนบริเวณเชิงเขานั้นจะเป็นพื้นที่ป่าชุมชน การเกษตรจะอาศัยน้ำจากลำน้ำแม่สะงี

บ้านทุ่งมะส้านห่างจากตัวเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอนตามระยะของทางหลวงแผ่นดิน ๑๐๙๕

สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ถึงแยกบ้านห้วยผึ้ง ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร แล้วเปลี่ยนมาใช้

เส้นทางชนบทหมายเลข ๑๒๘๕ถึงบ้านทุ่งมะส้าน ประมาณ ๓ กิโลเมตร รวมระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร

มีพื้นที่การปกครอง ๒๒ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้


๘. อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ         ติดต่อกับ บ้านนาปลาจาด หมู่ที่ ๔ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศใต้             ติดต่อกับ บ้านห้วยผา หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ บ้านแม่สุยะ หมู่ที่ ๖ ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับบ้านหมอกจำแป่ หมู่ที่ ๑ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พื้นที่ปกครอง   ๒๒ ตารางกิโลเมตร

จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร ๓๕๑ คน ๑๔๑ ครัวเรือน

ประชากร         ชาย  ๑๙๒   คน หญิง  ๑๕๙  คน

อายุชุมชน        ๑๔๐  ปี

แหล่งน้ำ          ลำน้ำแม่สะงี ประปาหมู่บ้าน และน้ำฝนตามธรรมชาติ

อาชีพ              เกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน รับจ้าง

ชีพเศรษฐกิจ    ข้าว กระเทียม


๙. การเดินทา

เส้นทางหลวง ๑๐๙๕ เส้นทางจากอำเภอเมือง-อำเภอปาย ระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร

เส้นทางชนบท ๑๒๘๕ จากแยกบ้านห้วยผึ้งถึงบ้านทุ่งมะส้าน ระยะทาง ๓ กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัด ๒๕ ก.ม. ใช้เวลาในการเดินทาง ๐.๔๕ ชม.

ระยะทางจากอำเภอเมือง ๒๕ ก.ม. ใช้เวลาในการเดินทาง ๐.๔๕ ชม.

ภาพบรรยากาศชุมชนบ้านทุ่งมะส้าน













 
 

ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556-2567 © 2013-2024 โดย วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน - www.taiyai.org
วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เลขที่ 36 ถนน ปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 58000
โทรศัพท์/โทรสาร 053-695438-9