พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงี
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่สะงา
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอน
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอน
 
 
ชุมชนป๊อกตะวันออก
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับชุมชน


            ชุมชนป๊อกตะวันออก ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเก่าแก่อยู่ในเขตชุมชนเมือง มีพื้นที่อาณาเขตรับผิดชอบทั้งหมด
2.1 ตารางกิโลเมตร เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ราบค่อนข้างมาก พื้นที่ของชุมชนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตท่าอากาศยานจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประวัติชุมชน


            ในอดีตบริเวณที่ตั้งของชุมชนป๊อกตะวันออก ซึ่งในปัจจุบันมีสภาพเป็นทุ่งนา มีบ้านเรือนตั้งอยู่ประมาณ 4-5 หลัง เป็นสวนกล้วย  บริเวณสนามบินเดิมเป็นทุ่งนาและป่ารก ต่อมามีชาวไทใหญ่ได้อพยพจากประเทศพม่ามาอาศัยอยู่ในบริเวณมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า “บ้านนาบอน”(ใกล้ริมฝั่งน้ำแม่ฮ่องสอน)บริเวณนี้มีน้ำที่ใช้ในการเกษตรค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ดีมาก  ลักษณะบ้านของชาวไทใหญ่ในสมัยนั้นทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยตองตึง และเวลาต่อมาแม่ฮ่องสอนได้เจริญขึ้นตามวันเวลา จึงได้แบ่งเขตเทศบาลเมืองเพื่อปกครองเป็นชุมชน โดยการแบ่งชุมชนในช่วงแรกนั้น ชุมชนป๊อกหนองจองคำและชุมชนป๊อกตะวันออกได้รวมกันเป็นชุมชนเดียว แต่ต่อมาก็ได้แบ่งแยกออกมาเป็นชุมชนตะวันออก


ลักษณะทางกายภาพ

        พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนป๊อกตะวันออก เป็นพื้นที่ราบมีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่แบบชุมชนเมืองทั่วไป มีสถานที่ราชการที่สำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลศรีสังวาลและมีประวัติศาสตร์สำคัญ ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับราชการ กำลังศึกษา และรับจ้างทั่วไป บางหลังคาเรือนนิยมปลูก
สถานที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

ชุมชนป๊อกตะวันออก ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนสิงหนาทบำรุง ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่พิกัดละติจูต 19 องศาเหนือ 17 ลิปดา 903 ฟิลิปดา และลองจิจูต 097 องศาตะวันออก 58 ลิปดา 385 ฟิลิปดา อาณาเขตติดต่อทิศเหนือติดกับชุมชนบ้านใหม่และชุมชนป๊อกปางล้อ ทิศใต้ติดกับชุมชนป๊อกหนองจองคำ ทิศตะวันออกติดกับชุมชนบ้านใหม่ และทิศตะวันตกติดกับชุมชนป๊อกกาดเก่า ซึ่งเป็นชุมชนพื้นที่ราบที่มีอาคารบ้านเรือนล้อมรอบค่อนข้างหนาแน่น

สภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ

            จากการสังเกตชุมชนป๊อกตะวันออกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ บางส่วนเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีลำห้วยแม่ฮ่องสอนไหลผ่านแนวเขตบริเวณทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน บริเวณสองฝั่งลำน้ำมีวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ในปัจจุบันมีการสร้างอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก สำหรับต้นไม้ที่พบในชุมชนที่ทางเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนอนุรักษ์ไว้นั้น เช่น ต้นตาล ต้นไทร และอื่นๆ ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการและรับจ้างทั่วไป

การคมนาคม

จากการสังเกตการณ์คมนาคม ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการสัญจรไปมา ถนนภายในชุมชนและถนนที่เชื่อมต่อกับชุมชนอื่นส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง และเป็นถนนคอนกรีตเฉพาะเส้นทางสั้นๆเท่านั้น จึงมีความสะดวกในการเดินทาง

ลักษณะทางประชากร

            ชุมชนป๊อกตะวันออกมีประชากรโดยรวม 628 คน เมื่อจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 46 - 60 ร้อยละ 26.58 รองลงมา อยู่ในช่วงอายุ 31 – 45 ปี ร้อยละ25.00 และน้อยที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 76 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 5.42

ลักษณะทางเศรษฐกิจ

            ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับราชการ ชุมชนเมืองจัดว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญและมีความเสื่อมรวมอยู่ด้วย เป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานถาวร และหนาแน่นด้วยประชากร การประกอบอาชีพมีความแตกต่างกัน งานส่วนใหญ่เป็นงานเกี่ยวกับการบริการหรืองานที่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ การประกอบอาชีพเป็นไปตามความสามารถเฉพาะของบุคคล

ลักษณะอาคารบ้านเรือน

            ลักษณะอาคารบ้านเรือนของประชากร ส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นและบ้านชั้นเดียว มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 239 หลังคาเรือน เป็นบ้านปูนโดยมีไม้เป็นวัสดุในการสร้างบ้านบางหลังคาเรือน หลังคามุงด้วยสังกะสีหรือกระเบื่อง

ลักษณะการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์

            ชุมชนป๊อกตะวันออก ส่วนใหญ่มีบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบและบางสวนมีบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำห้วยแม่ฮ่องสอนทั้งสองฝั่งลำน้ำ ประชากรจะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยโดยมีโฉนดที่ดินในการถือกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ในชุมชนมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 239 ครัวเรือน มีพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 625 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เพื่ออยู่อาศัย 495 ไร่และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 130 ไร่

ลักษณะทางสังคม


            ชุมชนป๊อกตะวันออกเป็นชุมชนที่มีขนาดปานกลาง มีพื้นที่รับผิดชอบค่อนข้างกว้าง เนื่องจากมีพื้นที่ล้อมรอบท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน คนในชุมชนมีความผูกพันกับเพื่อนบ้านน้อยลง การไปมาหาสู่กันเป็นลักษณะตำแหน่งหน้าที่การงาน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ทั้งนี้เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการแข่งขันกันในการดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมส่วนใหญ่จะเป็นอาคารบ้านเรือน และถนนหนทาง ชีวิตผู้คนไม่ค่อยมีความผูกพันกับธรรมชาติ

ระบบสาธารณูปโภคและอื่นๆ

        ถนนภายในชุมชน

            ถนนภายในชุมชนป๊อกตะวันออก ถนนที่มีระยะทางยาวจะเป็นถนนยางมะตอยส่วนถนนที่มีระยะทางสั้นๆ นั้น จะเป็นถนนคอนกรีต ถนนในทุกพื้นที่ของชุมชนมีความสะดวกในการสัญจรไปมา

        ไฟฟ้าและระบบประปา

            จากการสังเกตพบว่า ไฟฟ้าภายในชุมชนป๊อกตะวันออกใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกหลังคาเรือน ส่วนระบบประปาภายในชุมชนใช้น้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค สำหรับน้ำดื่มภายในครัวเรือน ส่วนมากซื้อน้ำชนิดถัง หรือกดน้ำจากตู้กรอง และบางหลังคาเรือนซื้อเครื่องกรองน้ำมากรองน้ำประปาไว้บริโภคเองที่บ้าน

        โทรศัพท์สาธารณะ

            ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งมีความสะดวกและอัตราค่าใช้บริการไม่แพง ดังนั้นโทรศัพท์สาธารณะจึงไม่ได้สำคัญเหมือนสมัยก่อนที่ต้องมีหลายจุดและต้องมีสภาพดี 

        การจัดการขยะ

            จากการสัมภาษณ์พบว่า เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน มีโครงการเพื่อลดปัญหาขยะฯ ซึ่งชุมชนป๊อก
ตะวันออกอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน มีบางครัวเรือนของชุมชนได้เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ โดยนำขยะมาแลกเป็นต้นไม้หรือพืชผักสวนครัวได้ และยังมีโครงการรับบริจาคขยะรีไซเคิล ซึ่งจุดรับบริจาคอยู่ ณ ที่ทำการชุมชนป๊อกตะวันออก และบางครัวเรือนคัดแยกขยะเพื่อขายเอง  สำหรับการกำจัดขยะอื่นๆ แต่ละครัวเรือนจะนำขยะใส่ถุงดำมาวางไว้ข้างถนน เพื่อรอให้รถเก็บขยะของเทศบาลมาเก็บในตอนกลางคืนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เว้นวันเสาร์และอาทิตย์โดยมีค่าธรรมเนียมเป็นรายปีครัวเรือนละ
240 บาท

สถานที่สำคัญ

        วัดกลางทุ่ง

            จากการสำรวจพบว่า วัดกลางทุ่ง ตั้งอยู่ที่พิกัด
19 องศาเหนือ 17 ลิปดา 527 ฟิลิปดา และ 97 องศาตะวันออก 58 ลิปดา 263 ฟิลิปดา วัดกลางทุ่ง สร้างเมื่อพ.ศ. 2448 แรกเริ่มมีการสร้างเจดีย์ขึ้น ผู้สร้างคือจองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ บริเวณที่สร้างวัดเป็นสวนกล้วย ก่อนสร้างอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ ได้ฝันถึงภรรยาที่เสียชีวิต(จิ่ง) ฝันว่านางต้องการให้สร้างเจดีย์บริเวณสวนกล้วยแห่งนี้ อูพะก่าแวง กวีวัฒน์ จึงนิมนต์พระที่วัดนาบอน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) มาจำพรรษา โดยการสร้างกุฏิหลังเล็กให้แล้วตั้งชื่อว่า จองป๊กป่าโหย่ง (วัดบุปผาราม) ต่อมามีศรัทธาหลายคนดำเนินการขยายวัดให้ใหญ่ขึ้น ในพ.ศ. 2458 นายอูป่อ นางส่วยวิมาละ มีศรัทธาในการสร้างพระพุทธรูป (เจ้าพาราเหม่ป้อก) หมายถึงพระพุทธรูปที่สร้างโดยมีฐานพระพุทธรูปติดกับพื้นดิน แล้วสร้างอาคารครอบตอนหลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นพระประธานของศาลาการเปรียญ เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งนาชาวบ้านจึงเรียกติดปากต่อกันมาว่า วัดกลางทุ่ง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ตัวอาคารศาลาการเปรียญเดิมสร้างด้วยเสาไม้ พื้นกระดาน หลังคามุงสังกะสีมีสภาพทรุดโทรม ต่อมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2521 จึงมีการรื้อถอนอาคารเดิมแล้วปลูกสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2521 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี 6 เดือน ประกอบพิธีฉลองเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523 ตัวอาคารศาลาการเปรียญมีขนาดกว้าง 34 เมตร ยาว 34 เมตร มีรูปทรงเป็นศิลปะแบบจีนผสมไทใหญ่ เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นกระดาน หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ สีแดง เขียว ขาว หน้าต่างบานกระจก เสาประดับลวดลายดอกทำด้วยกระจกใสและกระจกเงามีสีสันต่างๆ มองดูเป็นเงางามน่าเลื่อมใส และก่อสร้างอุโบสถวัดกลางทุ่ง หอระฆังวัดกลางทุ่ง และศาลาจำศีลวัดกลางทุ่ง


        ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

            จากการสำรวจพบว่า ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ตั้งอยู่ที่พิกัด
19 องศาเหนือ 18 ลิปดา 050 ฟิลิปดา และ 97 องศาตะวันออก 58 ลิปดา 163 ฟิลิปดา ประวัติเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเท่าที่ประมาณจากตำนานเล่าต่อๆกันมาบันทึกที่ค้นพบและการถามคนทรง ปัจจุบันเจ้าพ่อข้อมือเหล็กมีคนทรงหลายคน ได้ข้อมูลที่ตรงกันประการหนึ่ง คือเจ้าพ่อข้อมือเหล็กขณะยังมีชีวิตอยู่ เป็นทหารหรือนักรบของคนไทยลานนา มีความกล้าหาญสามารถทำลายสู้กับข้าศึกได้นับร้อย มีจิตใจรักชาติบ้านเมือง ถือดาบสองมือเป็นอาวุธ ชื่อเดิมและประวัติครอบครัวไม่ค่อยตรงกัน พื้นเพเดิมอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างและมาเป็นทหารให้กับหัวเมืองเหนือตั้งแต่เมืองน่าน เมืองเชียงใหม่ จนถึงเวียงฝางทำสงครามกับไทยไหญ่และพม่าเสียชีวิตลงเนื่องจากการรบหรือตรากตรำในการรบ ยุคสมัยของท่านไม่สามารถระบุได้แน่นอนในประวัติศาสตร์คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังจากเสียชีวิตแล้วยังเป็นห่วงบ้านเมือง เป็นเทวดาคุ้มครองตอนเหนือของเชียงใหม่ตั้งแต่อำเภอแม่แตง อำเภอฝาง จนถึงแม่อ่องสอน (ข้อมูลจากศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร)

ในสมัยเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่และเป็นชายแดนของเชียงใหม่ติดกับประเทศพม่าในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ครั้นในปี พ.ศ. 2417 เป็นปีที่ชานกะเลได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นพญาสิงหนาทราชาปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน ต่อมาราวอีก 2 ปี บ้านเมืองอยู่ในความสงบและเรียบร้อยจึงได้ไปเชิญเจ้าพ่อหน่อคำแดง เจ้าเมืองแห่งเชียงใหม่ มาปกปักรักษาให้ประชาชนเคารพนับถือเพื่อที่จะให้มีความผาสุกเป็นองค์ที่ 1 ต่อมาได้เชิญเจ้าพ่อชูลายเป็นองค์ที่สอง และเจ้าพ่อข้อมือเหล็กเป็นองค์ที่ 3 และมีเจ้านางอีกหลายนางประทับอยู่ในศาลของแม่ฮ่องสอน

        โรงพยาบาล
ศรีสังวาลย์


          ดำเนินการโดยได้รับโอนกิจการ สุขศาลา ชั้นหนึ่ง ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2496 โดยนายแพทย์วิวัฒน์ กรีพานิช เป็นผู้รับมอบในนามของกอง โรงพยาบาลภูมิภาคกรมการแพทย์ แต่ยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับบริการพยาบาลคนไข้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ต้องรับสมัครเจ้าหน้าที่เพิ่มอีก เมื่อพร้อมแล้วจึงเปิดรับการรักษาพยาบาลคนไข้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2496 ต่อมาจึงไดถือว่าวันนี้เป็น
“ วันโรงพยาบาล ” สำหรับตัวอาคารในขณะนั้นมีเพียงตึกอำนวยการเพียงหลังเดียว แต่ด้วยความสามารถของนายแพทย์ วิวัฒน์ กรีพานิช ได้ดัดแปลงเป็นห้องพักแพทย์ เภสัชกร ห้องตรวจโรค ห้องจ่ายยา ห้องทำครัวและห้องพักคนไข้ใน ซึ่งพอกับปริมาณในระยะเริ่มแรก และในกลางปีนี้ได้แพทย์เพิ่มอีก 1 คน คือนายแพทย์สมทรง กาญจนหุต สำหรับด้านบริการอย่างอื่นก็ยังอยู่ในขั้นขลุกขลักอย่างที่สุด ไฟฟ้ายังไม่มีใช้ น้ำประปายังไม่มี ต้องใช้น้ำฝนและน้ำจากบ่อบาดาล ต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเพิ่มอีก คือ บ้านพักแพทย์ 1 หลัง โรงครัว 1 หลัง และที่พักศพ 1 หลัง แต่การก่อสร้างล่าช้ามากเนื่องจากวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เครื่องเหล็กต่าง ๆ ต้องลำเลียงมาจากจังหวัดเชียงใหม่โดยทางม้าต่าง จึงใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 วัน ทางเครื่องบินบ้างแต่เป็นส่วนน้อย ในปัจจุบัน โรงพยาบาลประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่สร้างใหม่นี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามว่า “ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ ” ตามพระนามาภิไธยของสมเด็จพระราชชนนีองค์ พระผู้มีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา ผู้ออกแบบก่อสร้างคือ นางไขศรี ตันศิริ และนายประภรณ์ จารุจันทร์ สถาปนิกและนายช่างแห่งกรมอนามัยก่อสร้างโดยเงินงบประมาณเป็นเงิน 3,849,000 บาท ซึ่งบริษัทแม่ออนจำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างประกอบด้วยตึกอำนวยการ มีห้องตรวจโรค ห้องผ่าตัด ห้องเอ็กซ์เรย์ ห้องเภสัชกรรม ห้องทันตกรรม และอาคารหอผู้ป่วยจำนวน 1 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 912 ตารางเมตร ชั้นล่างสำหรับผู้ป่วยสามัญ คนไข้ได้ 32 เตียง ชั้นบน เป็นห้องผู้ป่วยพิเศษ จำนวน 22 ห้อง และอาคารเกี่ยวกับกิจการของโรงพยาบาลอีก 6 ห้อง


        ท่าอากาศยานจังหวัดแม่ฮ่องสอน

สนามบินแม่ฮ่องสอน เริ่มก่อตั้งขึ้นประมาณกลางปี 2482 พื้นที่เดิมเป็นที่นาของราษฎรโดยทางจังหวัดได้รับบริจาคจากคหบดี เมื่อได้มาจึงเพียงแต่ปรับปรุงคันนาให้เรียบร้อยพอเป็นที่ขึ้น-ลง ของเครื่องบินได้ มีความยาวประมาณ 600 เมตร กว้าง 2.5 เมตร ทิศทางทางวิ่งเหนือ-ใต้ อันเป็นที่ตั้งของสถานี เอ็นดีบี. ในขณะนั้นไม่มีอาคารของกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับทางวิ่งนั่นเอง เมื่อมีเครื่องบินมาขึ้น-ลง เจ้าหน้าที่ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในเมืองจะนำล้อเกวียนเทียมโคคู่ออกมารับสัมภาระของผู้โดยสารเข้าเมืองไป ระยะทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองประมาณกิโลเมตรเศษ พาหนะอื่นไม่มี บริษัทเดินอากาศ จำกัด เป็นผู้ทำการเปิดบินเป็นครั้งแรก ด้วยเครื่องบิน แบบแฟร์ไซลด์ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ เที่ยวละ 3-4 คน โดยมีเส้นทางบิน เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-แม่สะเรียง-เชียงใหม่ เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศต่างๆ ยังไม่มี กำหนดการบินจึงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ อยู่จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหยุดบินไประยะหนึ่ง เมื่อสงครามสงบ กองทัพอากาศ ได้ปรับปรุงสนามบินอีกครั้ง โดยเปลี่ยนแนวทางวิ่งเป็น ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก (ในปัจจุบัน) พื้นผิวของทางวิ่ง เป็นดินลูกรังบดอัด ยาว 800 เมตร กว้าง 30 เมตร และเปิดให้ทำการบิน ขึ้น-ลง ได้ในเดือน กรกฎาคม 2489 ต่อมากองทัพอากาศได้มอบให้ สำนักงานการบินพลเรือน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นกรมการบินพาณิชย์ เข้าปรับปรุงเป็นสนามบินพาณิชย์ และบริษัทเดินอากาศไทยได้นำเครื่องบินแบบ แอล 5 ทำการบินแบบพาณิชย์ วันวันที่ 1 มีนาคม 2490 เป็นต้นมา และกรมการบินพาณิชย์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมการขนส่งทางอากาศ ตามราชกิจจานุเบกษา มาตรา 51 หน้า 21 เล่ม 119 ตอนที่ 102 ก วันที่ 8 ตุลาคม 2545 เมื่อสำนักงานการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน) เข้ารับมอบหมายจากกองทัพอากาศให้ใช้พื้นที่ปรับปรุงสนานบิน จึงได้เริ่มพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในกิจการบินพาณิชย์เต็มรูปแบบ

 









 
 

ฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับไทใหญ่ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2556-2567 © 2013-2024 โดย วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน - www.taiyai.org
วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เลขที่ 36 ถนน ปางล้อนิคม ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 58000
โทรศัพท์/โทรสาร 053-695438-9