ลืมรหัสผ่าน / สมัครสมาชิก

สถิติวันนี้ 17 คน
สถิติเดือนนี้ 336 คน
สถิติปีนี้ 6,174 คน
สถิติทั้งหมด 218,971 คน
ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554
  • ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ศูนย์ใหญ่ศึกษา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
  • ၸုမ်းၾၢႆႇလဵပ်ႈႁဵၼ်းလွင်ႈတႆး ဝိတ်းထယႃးလႆးႀုမ်းႀူၼ်းမႄႈႁွင်ႈသွၼ် ႁူမ်ၸူမ်းႁပ်ႉတွၼ်ႈယူႇၶႃး

กลับหน้าหลัก ฐานข้อมูล

ประวัติสงครามโลกครั้งที่ 2 กับแม่ฮ่องสอน

(02/09/2011 เวลา 11:33:09)

ประวัติสงครามโลกครั้ง 2

สงครามโลกครั้ง 2 เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2484 – 2488 จากนั้นมีทหารญี่ปุ่นได้เดินทัพผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อเคลื่อนทัพไปยัง ประเทศพม่าโดยใช้ช่องทาง บ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน2549 : 164) ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงคราม มีการประกาศจัดระดมกองกำลังประชาชนชายตั้งแต่อายุ 18-45 ปี และใน พ.ศ. 2484 มีการฝึกกองกำลังที่วัดหัวเวียง วันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 มีเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธพันธมิตรมาทิ้งระเบิดที่วัดพระธาตุกองมู แต่พลาดเป้สหมายตกลงบริเวณที่สุสาน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 มีเครื่องบินจำนวน 13 ลำ มาทิ้งระเบิดอีก (การประชุมกลุ่ม : 22-1-2551) ทำให้ นายอรุณ สิริบุญมา และนายตำรวจอีก 1 นายเสียชีวิต สมัยนั้นไม่มีปืนต่อสู้อากาศยานในจังหวัด ชาวบ้านจึงใช้กลอุบายโดยนำเกวียนที่ปลดวัวออกแล้วหันหัวเกวียนเฉียงชี้ขึ้น ไปบนฟ้าลักษณะเหมือนปืนกล เพื่อให้สัมพันธพันธมิตรเข้าใจว่ามีปืนกลอยู่ ณ บริเวณนี้ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2485 จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยให้อำนวยความสะดวกแก่กองทัพ ญี่ปุ่นที่จะเดินทางผ่านไปยังพม่า ในการนี้ข้าราชการไทยจึงได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ประสานงานใน การจัดหาเสบียงอาหารและกำลังคนเพื่อก่อสร้างทางสาย ปาย - แม่ฮ่องสอน-ขุนยวม-ต่อแพ- ห้วยต้นนุ่น ซึ่งเป็นจุดต่อแดนไปยังกับน้ำมางในเขตประเทศพม่า ต่อมาระหว่างพ.ศ. 2485-2486 เมื่อหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายต่อกองทัพสัมพันธมิตรในแนวรบประเทศ พม่า ทหารญี่ปุ่นจึงถอยทัพกลับมาตั้งมั่นในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2549 : 174)

จากนั้นถึงช่วงปี พ . ศ . 2487 ทหารญี่ปุ่นถอยทัพกลับเข้ามาอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้การเดินทางผ่านน้ำมาง (ในเขตประเทศพม่า) – ดอยน้ำพอง – ต่อเขต – ห้วยต้นนุ่น – ห้วยปลามุง – ต่อแพ เข้าสู่อำเภอขุนยวม ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทหารช่างญี่ปุ่นและแรงงานชาวไทยร่วมกันจัดสร้างขึ้น ทางเส้นนี้กว้างประมาณ 4 เมตร คดเคี้ยวตามลำห้วยเล็ก ๆ มีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร และมาตั้งค่ายทหารอยู่ในเขตอำเภอขุนยวมเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณตามใต้ถุน วัด ศาลาวัด เช่นที่ วัดหัวเวียงหรือวัดม่วยต่อ ( ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน ) กับวัดคำในเป็นที่ตั้งหน่วยพยาบาล ศาลาวัดขุ่มเป็นที่ตั้งหน่วยสื่อสารกลาง หน้าวัดโพธารามใกล้ฝั่งน้ำยวมเป็นที่ตั้งหน่วยเสบียงอาหาร และที่ศาลากลางบ้านเยื้องกับสถานีตำรวจภูธร อำเภอขุนยวม เป็นที่ตั้งปืนกล 2 กระบอก โดยหันปากกระบอกปืนไปทางสถานีตำรวจ และใช้เป็นที่รับรายงานตัวของทหารที่เข้ามาภายหลัง (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน2549 : 165,174)

หลักฐานที่พบจากการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

จากการเคลื่อนทัพของกองทัพญี่ปุ่นผ่าน จังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าไปยังพม่าและถอยทัพกลับมาพักยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนใน ช่วงสงครามโลกครั้ง 2 สามารถมีหลักฐานสำคัญตามอำเภอต่าง ๆ ดังนี้ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2549 : 175-179)

1. อำเภอขุนยวม ใช้พื้นที่ภายในสถานที่ราชการ วัดต่าง ๆ และบ้านเรือนราษฎรเป็นที่พัก ซึ่งประกอบด้วยดังนี้คือ

1.1 วัดต่อแพ หมู่ 1 ตำบลแม่เงา เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่เคลื่อนพลมาจากประเทศพม่า โดยพื้นที่ใต้ถุนศาลาวัดถูกใช้เป็นสถานพยาบาล บริเวณวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ ใช้เป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตรด้านตะวันออกและด้านใต้ของวัดรวมทั้งบริเวณที่ราบ เชิงดอยด้านทิศใต้ของวัดต่อแพถูกใช้เป็นที่ฝังศพทหารผู้เสียชีวิต

1.2 วัดม่วยต่อ ตำบล ขุนยวม อำเภอขุนยวม ครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา อาณาเขต ด้านทิศเหนือของวัดม่วยต่อคือวัดหัวเวียงโดยแบ่งแยกกันด้วยช่องประตูทางเข้า ขนาดเล็ก แต่ในปัจจุบันวัดทั้งสองได้ผูกพัทธสีมาเข้าเป็นวัดเดียวกันโดยใช้ชื่อว่าวัด ม่วยต่อ ในครั้งนั้นพื้นที่ภายในวัดหัวเวียงถูกใช้เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลใหญ่ของ ค่ายขุนยวม ส่วนที่ผู้เสียชีวิต จะถูกนำไปฝังบริเวณที่ว่างด้านตะวันตกของวัด แต่หลุมฝังศพส่วนใหญ่นั้นได้ถูกขุดไปแล้วในราว พ.ศ. 2510

1.3 ค่ายหนองป่าก่อ ตำบล ขุนยวม อำเภอขุนยวม ปัจจุบันอยู่ห่างจากอำเภอขุนยวมไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ค่ายหนองป่าก่อเป็นค่ายขนาดใหญ่ ด้านตะวันออกของทางหลวงจังหวัดหมายเลข 108 เป็นที่จอดรถบรรทุกจำนวนมากเรียงรายกันและมีการกางเต็นท์นอนในรถบางส่วน เส้นทางด้านตะวันตกซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นราบค่อนข้างกว้าง เป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลและโรงเรือนพัก ซึ่งเรียงรายอยู่ 2 ฝั่งลำน้ำ โดยมีค่ายพักของสตรีและเด็กรวมอยู่ด้วยโดยในระยะสุดท้ายของพื้นที่ และพื้นที่ด้านหลังค่าย (ส่วนที่ติดกับเนินเขา)ในครั้งนั้นมีสภาพเป็นป่ารกทึบ ถูกใช้เป็นสถานที่ฝังศพทหารผู้เสียชีวิต โดยมีทั้งฝังรวมกันเป็นหลุมใหญ่และฝังเป็นหลุมขนาดเล็กหลุมละ 2-3 คน โดยฝังแบบต่อเนื่อง

1.4 บ้านแม่สุรินทร์ อำเภอ ขุนยวม บ้านแม่สุรินทร์ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอขุนยวมไปทางด้านเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้เข้ามาตั้งค่ายพักอยู่ที่บ้านแม่สุรินทร์โดยได้ กระจายกำลังเข้าอาศัยตามบ้านเรือนราษฎร โรงเรียนและวัด โดยนำศพผู้เสียชีวิตฝังไว้บริเวณที่ราบ 2 ฝั่งน้ำห้วยยาว

2. อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน

2.1 บ้านห้วยโป่ง ตำบล ห้วยโป่ง อยู่ห่างจากตัวอำเภอขุนยวมประมาณ 30 กิโลเมตร ช่วงราวเดือนพฤษภาคม ทหารญี่ปุ่นทยอยเดินทางจากขุนยวมมายังบ้านห้วยโป่ง โดยเข้ามาพักอยู่ที่บ้านเรือนราษฎรโรงเรียนและวัด โดยที่โรงเรียนนั้นเป็นที่ตั้งของหน่วยกองเสบียง ส่วนบริเวณใต้ถุนศาลาวัดเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลผู้ป่วย โดยมีนายทหารพักอยู่ด้านบน และนอกจากนั้นยังมีค่ายพักทหารอยู่ที่หนองผักบุ้งริมน้ำห้วยโป่งด้านตะวันตก เฉียงเหนือของหมู่บ้าน ส่วนทหารที่เจ็บป่วยและล้มตายซึ่งมีเป็นจำนวนมากจะถูกนำไปฝังไว้ร่วมกันที่ บริเวณลาดเชิงเขาห่างจากวัดห้วยโป่งไปทางทิศใต้ตามถนนญี่ปุ่น (ใกล้เคียงกับตำแหน่งทางหลวงจังหวัดในปัจจุบัน) แต่อาจมีบางศพในกรณีที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่จะถูกนำไปฝังแยกไว้ต่างหาก

2.2 บ้านผาบ่อง ตำบล ผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน กลุ่มทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในเขตบ้านผาบ่องกลุ่มแรกคือทหารกองเสบียง และฝ่ายการเงิน หลังจากนั้นทหารญี่ปุ่นจึงค่อย ๆ ทยอยเข้ามามีทั้งคนปกติและเจ็บป่วยแขนขาขาด โดยได้เข้ามาอาศัยอยู่ตามบ้านต่าง ๆ วัดและโรงเรียน โดยที่โรงเรียนนั้นถูกใช้เป็นเป็นโรงพยาบาลสนามและมีแพทย์ญี่ปุ่นมาทำการ รักษาให้ผู้ป่วย ทหารญี่ปุ่นที่ตายจะถูกนำไปฝังรวมกับศพของชาวบ้านที่สุสานประจำหมู่บ้านซึ่ง อยู่ทางด้านทิศเหนือของโรงเรียนบ้านผาบ่องในปัจจุบัน

2.3 ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทหาร ญี่ปุ่นที่เข้ามาถึง ตำบลจองคำ จะพักอยู่ตามศาลากลาง วัดจองคำ วัดจองกลาง วัดกลางทุ่ง วัดพระนอน วัดม่วยต่อ และบ้านเรือนราษฎร โดยตั้งกองบัญชาการที่หอเจ้าฟ้าพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี และตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรที่บ้านหลวงอนุมัติราชกิจ ถนนสิงหนาทบำรุง สำหรับราษฎรนั้นจะมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในบ้านหรือในสวน ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในช่วงเวลานั้นมีทั้งอยู่ในสภาพเจ็บป่วย พิการ และในสภาพปกติ และเมื่อมีผู้เสียชีวิตจะนำศพไปฝังไว้ที่ป่าช้าเทศบาล โดยขุดเป็นหลุมใหญ่ฝังประมาณ 30-50 คน

2.4 ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ญี่ปุ่น แพ้สงครามถอยเข้ามาในแม่ฮ่องสอน ได้ทยอยมาตั้งค่ายบ้านปางหมูบริเวณค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ต.ช.ด. 336 และ วัดปางหมู วัดผาอ่าง เป็นที่พักเรียงเป็นแถวเหยียดยาว อยู่กันกลุ่มละ 1-2 คืน แล้วทยอยเดินทางออก กลุ่มใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ๆ มีการฝังศพทหารที่ตายเป็นหลุมใหญ่รวมกันที่ค่าย ต.ช.ด. ที่ 336 นอกจากนั้นยังมีหลุมเล็ก ๆ ที่บริเวณวัดบ่อน้ำมูเซอที่นาหนอง และมีศพนายทหารฝังไว้ที่บริเวณที่ตั้งของริเวอร์ปายรีสอร์ท ในปัจจุบัน

2.5 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทหาร ญี่ปุ่นพักอยู่ที่วัดห้วยผาและ โรงเรียนบ้านห้วยผาและตามบ้านเรือนราษฎรโดยนอนอยู่กลุ่มละ 1-2 คืน แล้วเดินทางไปยังอำเภอปายต่อไป เมื่อมีทหารเสียชีวิตจะถูกนำไปฝังบริเวณที่ตั้งสถานีอนามัยบ้านห้วยผา ปัจจุบันเยื้องปากทางเข้าหมู่บ้าน มีทหารญี่ปุ่นมาเสียชีวิตบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนหลุมฝังศพเหล่านี้ได้มีชาวญี่ปุ่นมาขุดหลายครั้งแล้ว

2.6 บ้านแม่สุยะ อำเภอ เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทหารญี่ปุ่นได้เดินทางผ่านเข้ามาพักที่บ้านแม่สุยะเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละประมาณ 8-50 คน โดยเข้ามาขอพักในบ้านเรือนราษฎรเพียงกลุ่มละ 1-2 คืนแล้วเดินทางต่อแต่ไม่มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตที่แม่สุยะ

3. อำเภอปางมะผ้า พบมีกองทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายในบริเวณดังนี้

3.1 ตำบล สบป่อง

3.2 หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส. 15 ( น้ำของ )

3.3 ที่ตั้งโครงการอนุรักษ์และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของ ทภ 3/ กอรมน ภาค 3 ( ถ้ำผามอน)

3.4 บริเวณที่พักหมอนไม้ กม. 134 – 135

4. อำเภอปาย

ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในอำเภอปายในช่วง พ.ศ. 2484 - 2485 โดยกลุ่มแรกที่เข้ามาถึงคือ กองเสบียง มาจัดตั้งหน่วยจัดซื้อเสบียงที่วัดหลวง ทำยุ้งฉางจัดเก็บเสบียงที่อำเภอปายและยังทำแปลงผักสวนครัวและซื้อสัตว์และ จ้างราษฎรชาวไทยเลี้ยง กองเสบียงประกอบด้วยกองทหารช่างที่เดินทางมาพร้อมกับแรงงานรับจ้างคนไทย โดยมีการตั้งแค้มป์ที่พักเรียงรายกันเป็นระยะ ทุกระยะประมาณ 3-5 กิโลเมตร เรียงตามลำดับจากปายไปคือ แม่นาเติง – นาป่าคา - ปางตอง - น้ำริน (บ้านลีซอ) – ปางหลวง – (ถ้ำแม่อุมลอง) – บ้านท่าไคร้ และยังมีการสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำปายด้วย ช่วง พ.ศ. 2486 กองทัพรญี่ปุ่นได้เดินทางจากแม่ฮ่องสอนทยอยเข้าอำเภอปายเป็นกลุ่ม ๆ มีทหารทั้งที่เจ็บป่วยและทหารปกติ แล้วเข้ามาพักในวัด สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรโดยใช้วัดกลางเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาล เมื่อมีทหารล้มตายได้นำไปฝังบริเวณพื้นที่ว่างระหว่างวัดกลางและวัดป่าขาม หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลง 2 ปี จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เดินทางมายังอำเภอปายและมีการสร้างสนามบินปายขึ้นพร้อมกับ บ้านพักจำนวน 3 หลัง ในเขตตำบลเวียงเหนือ

5. อำเภอแม่ลาน้อย

ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่เดินทางเข้าสู้ ประเทศไทยตามแนวเส้นทางห้วยต้นนู่น – ขุนยวม แต่มีทหารญี่ปุ่นบางส่วนล่องลงตามลำน้ำยวม ไปขึ้นที่บ้านแม่ลาหลวงและตั้งพักอยู่ที่ศาลากลางบ้าน โดยแบ่งกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 7-10 คน มาพักอยู่เพียง 2-3 คืน แล้วเดินทางต่อไปยังอำเภอ แม่สะเรียง ทหารญี่ปุ่นที่มายังบ้านแม่ลาหลวงนมีประมาณ 50 คน ส่วนมากอยู่ในสภาพปกติแต่มีบางส่วนที่มีอาการบาดเจ็บและเจ็บป่วย มีทหารญี่ปุ่นตายที่แม่ลาหลวงประมาณ 2-3 คน และถูกนำไปฝังไว้ใกล้ลำห้วยด้านเหนือของหมู่บ้าน( ห้วยญี่ปุ่น ) ซึ่งทหารญี่ปุ่นทำการฝังกันด้วยตนเอง จึงไม่มีชาวบ้านผู้ใดทราบตำแหน่งที่ฝังศพ

6. อำเภอแม่สะเรียง

ในช่วงญี่ปุ่นแพ้สงครามทหารญี่ปุ่นส่วน หนึ่งได้ทะลักเข้ามายังอำเภอแม่สะเรียงโดยล่องตามน้ำมางในเขตพม่า ผ่านแม่แจ๊ะ เข้าเขตไทยทางบ้านเสาหิน – ลายไทย – บ้านพังซอ – หัวพระ และเข้าสู่อำเภอแม่สะเรียง โดยทยอยกันเข้ามาครั้งละ 5-6 คน ถึงประมาณกลุ่มละ 50 คน รวมประมาณ 200 คน บางคนเดินเท้าเปล่าเพราะเอาสิ่งของแลกของกินจากชาวบ้านจนหมด ทหารพวกแรกที่เข้ามาคือพวกหมอ และได้พักอยู่ตามวัด และบ้านเรือนราษฎร ต่อมามีทหารชาวอังกฤษและอินเดียประมาณ 7 คน เดินเท้าเข้ามาตามเส้นทางบ้านเสาหินเพื่อมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อำเภอแม่ สะเรียง และนำทหารญี่ปุ่นเดินไปทางอำเภอฮอดเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในอำเภอแม่สะเรียงในครั้งนั้น เมื่อมีผู้เสียชีวิตมักถูกฝังไว้บริเวณสนามบิน วัดอมราวาส และบริเวณบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเก่า

ประสบการณ์ของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้ง 2

1. อาจารย์สุรพล เทพบุญ

สมัยสงครามโลกครั้ง 2 มีทหารญี่ปุ่นเดินกองทัพเข้ามาในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน โดยมาตั้งกองบัญชาการที่บริเวณหอเจ้าฟ้าหรือที่บ้านของนายประพิน จันทรประยูร และตั้งกองบัญชาการที่บ้านเลขที่ 61 ถนนสิงหนาทบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือบ้านของขุนอาทรศึกษาการ และในสมัยนั้นอาจารย์สุรพล เทพบุญ มีอายุประมาณ 5-6 ปี ได้เคยเข้าหลบภัยกับชาวบ้านในหลุมหลบภัยที่ปัจจุบันคือบริเวณหน้าสถานีตำรวจ ภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน ( ชาวบ้านเรียกกันว่ากองเมือง ) หลุมหลบภัยนี้บรรจุคนได้ 15-20 คนผู้คนจะหลบลงหลุมเมื่อได้ยินสัญญาณหวอที่สถานีตำรวจและเสียงตีระฆังที่วัด พระธาตุดอยกองมู ลักษณะของหลุมหลบภัยมีขนาดกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร และสูงประมาณ 1.20 เมตร

2 . นาย ประสาน สิทธิเวช

ในสมัยสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาทางอำเภอปาย เข้ามาเป็นกลุ่มๆ ซึ่งได้เกณฑ์แรงงานชาวเชียงใหม่มาทำถนนจากเชียงใหม่เข้าสู่เมืองแม่ฮ่องสอน ด้วย โดยขุดทำถนนเป็นทางรถยนต์จากเชียงใหม่มาถึงอำเภอแม่มาลัย ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงเมืองแม่ฮ่องสอน ระหว่างการสร้างถนนนั้นมีคนเสียชีวิตจาการสร้งถนนหลายคน ในที่สุดสามารถสร้างถนนมาถึงอำเภอปาย จึงหยุดตั้งค่ายพักอยู่ที่อำเภอปายหลายเดือน ต่อมาได้สร้างต่อมาจนถึงเมืองแม่ฮ่องสอนใช้เวลาสร้างนานเป็นปีๆ หลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็เดินทางจากเมืองแม่ฮ่องสอนถึงขุนยวม จากขุนยวมถึงห้วยต้นนุ่น จากห้วยต้นนุ่นถึงแม่น้ำสาละวิน และมีการตั้งกองบัญชาการจากเชียงใหม่มาถึงอำเภอปายจากอำเภอปายมายัง แม่ฮ่องสอนถึงทางเข้าห้วยต้นนุ่น และเดินทางจากห้วยต้นนุ่นถึงแม่น้ำสาละวิน จากแม่น้ำสาละวินไปยังประเทศพม่า และเมื่อแพ้สงครามก็ถอยทัพกลับตามเส้นทางเดิม ส่วนที่ตั้งบัญชาการในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนตั้งอยู่ที่วัดจองคำและส่วนรถ ยนต์นำไปไว้ที่วัดผาอ่าง ในสมัยก่อนทหารญี่ปุ่นจะใช้เส้นทางลำห้วยในการเดินทาง คือ ด้านหลังโรงแรมรุกส์ฮอลิเดย์และตามวัดต่างๆจะเป็นที่พักพิงของทหารญี่ปุ่น ทั้งหมด (ประสาน สิทธิเวช : 25/01/2551)

3 . นายหาญ เพียรดี

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเดินทางจากเชียงใหม่ผ่านเข้าไปในเขตประเทศพม่าและเดินทางเข้าไป ยังดอยก่อเพื่อไปรบกับทหารพม่าที่ดอยก่อ จากนั้นเดินทางเข้าไปยังเมืองย่างกุ้งประเทศพม่า ซึ่งทหารญี่ปุ่นได้ตั้งฐานทัพอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสร้างถนนจากอำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่มาจนถึงบ้านปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทหารญี่ปุ่นนำรถมาจอดไว้ที่วัดผาอ่าง ประมาณ 200-300 คัน กองกำลังทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ 3 เดือนเศษ ในขณะนั้น นายหาญ เพียรดี มีอายุ 17 ปี ได้เข้าไปขายหน่อไม้และกล้วยน้ำว้าให้กับทหารญี่ปุ่นที่บ้านผาบ่อง พบเห็นศพทหารญี่ปุ่นนอนตายเรียงรายกันหลายศพ บางศพก็กำลังนำทิ้งลงหลุมที่ป่าช้าวัดผาบ่อง บางส่วนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นทหารญี่ปุ่นก็จ้างชาวแม่ฮ่องสอนให้หาไม้แปก(ไม้เกี๊ยะ) เพื่อว่าหากญี่ปุ่นแพ้สงครามก็จะนำไม้เกี๊ยะมาจุดไฟเผาแม่ฮ่องสอนเสีย หลังจากนั้นไม่นานเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และหัวหน้าทหารญี่ปุ่นได้ฆ่าตัวตายที่ถ้ำหมากแกง( ถ้ำมะขาม ) และถอยทัพกลับประเทศไปโดยที่ไม่ทันได้เผาเมืองแม่ฮ่องสอน (หาญ เพียรดี : 25/01/2551)

4 . นายวิเชษฐ ใจดี

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งกองบัญชาการที่เมืองแม่ฮ่องสอนและได้กระจายอยู่ตาม อำเภอต่างๆในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวม อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอำเภอปาย ส่วนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนนั้นที่ตั้งกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่หอ เจ้าฟ้าในปัจจุบัน และที่นั้นเป็นสำนักงานใหญ่ของทหารญี่ปุ่น และที่ตั้งสถานีวิทยุสื่อสารของทหารญี่ปุ่นอยู่ที่กรมป่าไม้จังหวัด ส่วนรถและอุปกรณ์ อาวุธหนัก อาวุธเบาตั้งอยู่ที่วัดผาอ่าง ส่วนที่อำเภอขุนยวมจะพักอยู่ตามวัดวาอาราม ซึ่งได้พักอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเวลา 1 ปี แต่หลังจากพ่ายแพ้สงครามแล้วจึงถอยทัพกลับไป บางคนก็ยังอาศัยอยู่ในแม่ฮ่องสอนต่อ บางคนก็ตายระหว่างทางที่กลับ และบ้างก็อยู่ในประเทศพม่าบางส่วน ตอนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทหารญี่ปุ่นเดินทางมาจากจังหวัดกาญจนบุรีไปทาง เจดีย์ 3 องค์ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นทางรถไฟสายมรณะในปัจจุบัน ตอนที่เดินทางกลับทหารญี่ปุ่นกลับไปทางบ้านต่อแพ อำเภอขุนยวม (วิเชษฐ ใจดี : 25/01/2551)  

 

จำนวนผู้เข้าชม : 6717

กลับหน้าหลัก ฐานข้อมูล